Home Home

ตำนานเมืองหนังสือ


ที่มาของ logo เมืองหนังสือ

ที่มาของ logo เมืองหนังสือ--ดวงกมล

เคยมีการพยายามหา สัญญาลักษณ์ ของเมืองหนังสือมาเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เป็นที่ตกลงกันสักที จนกระทั่งในงานสัปดาห์ครั้งที่ 33 ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2548 ก็ได้เห็นผลงานปั้นดินของช่างปั้นดินครอบครัวหนึ่ง เราพอใจกับตุ๊กตาดินปั้นเป็นรูปเด็กผู้ชายกำลังอ่านหนังสือ มองดูครั้งเดียวก็เกิดความประทับใจว่า เหมือนใครคนหนึ่ง ในครอบครัวดวงกมล มองกันอยู่พักหนึ่ง จึงร้องว่าใช่เลย เหมือน น้องปิ๊ก เด็กชาย พยุหะ คีรี สมาชิกคนสำคัญของดวงกมล จึงได้จัดการขอจากเจ้าของเขา พร้อมทั้งขอสิทธิที่จะใช้รูปดังกล่าว เป็นเครื่องหมาย เมืองหนังสือ ซึ่งคุณ.เฉลียว นิลม่วง......แห่ง บ้านแม่ปั้นดิน พ่อทำสวน .อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ก็ยินยอมโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

น้องปิ๊ก เป็นลูกชายคนเล็กของ คุณยุพดี และคุณธเรศ คีรี โดยมีคุณสมบูรณ์ สกุลสุทธวงศ์ เป็นพ่ออภิบาล (God Father) น้องปิ๊กเกิดวันเดียวกับที่กลุ่มดวงกมลมีมติลงทุนที่ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนจบการประชุมลุงสุข ได้แจ้งข่าวการมีสมาชิกใหม่ของครอบครัวดวงกมล โดยลุงสุข ขอให้ คุณธเรศ ตั้งชื่อลูกชายที่เกิดวันนั้นว่า เด็กชายพยุหะ นามสกุลคีรี ไม่รู้อะไรทำให้คล้องจองกันดีขนาดนั้น

น้องปิ๊กเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของคุณธเรศ เพราะหลังจากได้ลูกชายคนนี้มา ทุกอย่างก็เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ตอนช่วงอายุสองเดือนได้มีคนดังคนหนึ่งไปเยี่ยมร้านหนังสือดวงกมลเกิดถูกชะตา น้องปิ๊ก จึงได้เอ่ยปาก ขอจากคุณยุพดีเอาดื้อ ๆ โดยรับปากว่าจะเลี้ยงดูให้เป็นอย่างดี จะขอรับเป็นบุตรบุญธรรมเลย คนดังผู้นี้เป็นนักแสดงระดับโลก เคยมาเมืองไทยครั้งเดียว ฮือฮากันทั้งเมือง รถติดเป็นสิบกิโล ถ้าอยากจะรู้ว่าเป็นใครก็ไปถามบรรดาเจ้าหน้าที่ของดวงกมลเอาก็แล้วกัน ทุกคนรู้กันหมดและถ้าวันนั้นคุณยุพดีเกิดให้ไปจริง ๆ ตามแรงเชียร์ของคนที่มุงดู ถึงวันนี้ตอนนี้ (เมษายน 2005)น้องปิ๊กของเราคงดังระเบิดแน่ ๆ เพราะช่วงนี้คนดังคนนั้น กำลังเป็นข่าวอยู่ทุกวันบนสื่อต่าง ๆ เรื่องความสัมพันธ์แบบไม่เหมาะสมกับเด็กชาย หลาย ๆ ๆ ๆ คน และน้องปิ๊กของเราก็กำลังเป็นหนุ่มน้อยรูปหล่อ

mail ถึงเมืองหนังสือ

กลับไปหน้าแรก