Home Home

โครงสร้างเมืองหนังสือ


แผนงานและโครงสร้างเมืองหนังสือประกอบด้วย

1)อาคารคลังหนังสือ

1)คลังหนังสือ อยู่ริมถนนสายเอเซียด้านขาขึ้นไปนครสวรรค์ บริเวณ กม.207 มีพื้นที่ 20 ไร่ ที่สร้างแล้วคืออาคาร สำหรับเก็บหนังสือขนาด เท่ากับตึกแถว 4 ชั้นจำนวน 40 คูหา ปัจจุบันใช้เก็บหนังสือประมาณ 5 ล้านเล่ม อาคารคลังหนังสือนี้มีการออบแบบเพื่อสามารถปรับเป็นโรงแรมขนาด 400 ห้องได้ในอนาคตเพื่อรองรับความเจริญ ตอนที่สร้างถูกใคร ๆ มองว่าบ้า ที่ไปสร้างอาคารใหญ่โตกลางทุ่งนา แต่ปัจจุบัน ความเจริญได้เกิดขึ้น เพราะมีการก่อสร้างเกิดขึ้นมากมายในบริเวณใกล้เคียง

2)ตลาดนัดหนังสือ

เป็นที่ดิน 30 ไร่ตรงข้ามคลังหนังสือ บนทางกลับเข้า กรุงเทพฯ ขณะนี้มีการก่อสร้างอาคารแบบชั่วคราว ไว้ขายหนังสือและ ของฝากสำหรับผู้เดินทาง ตลาดนัดนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของโครงการเมืองหนังสือ ปัจจุบัน มีการแบ่งพื้นที่ 1 ไร่ทำเป็น ร้านอาหาร ใช้ชื่อว่าซุ้มบอล เป็นร้านอาหารที่มีห้องน้ำดีที่สุดบนเส้นทางสายเอเซียขาเข้ากรุงเทพ ตลาดนัดหนังสือนี้ นี้จะมีการปรับปรุงและขยายกิจการครั้งใหญ่หลังการปรับปรุงถนนสายเอเซียเสร็จในปี 2551 ตลาดนัดนี้จะเป็นเสมือนห้องรับแขกของเมืองหนังสือ และเป็นทรัพย์สินหลักของเมืองหนังสือ เพราะพื้นที่ 29 ไร่ที่เหลือ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทภายใน พ.ศ. 2552

3) อุทยานหนังสือ

เป็นพื้นที่ปะรมาณ 100 ไร่ อยู่ระหว่างคลังหนังสือกับแม่น้งเจ้าพระยา เป็นที่สาธารณะ จึงได้มีการวางแผนกับฝ่ายบ้านเมือง ให้สร้างเป็นอุทยานักเขียนไทย มีโครงการปลูกต้นไม้ยืนต้น พร้อมทั้งบันทึกประวัตินักเขียนไทย นอกเหนือจากชื่อต้นไม้

4)ท่าเรือเมืองหนังสือ

4)ท่าเรือเมืองหนังสืออยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับการเดินทางด้วยการล่องเรือไปเยี่ยมหมู่บ้านนักเขียน และการท่องเที่ยวทางน้ำไปจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท และอุทัยธานี

5)บ้านพักเมืองหนังสือ

5)บ้านพักเมืองหนังสือ เป็นที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ติดอุทยานนักเขียนไทย ในโครงการจะสร้างบ้านพักสำหรับเจ้าหน้าที่เมืองหนังสือซึ่งน่าจะมีประมาณ 300 คน รวมทั้งเป็นบ้านพักผู้ไปเที่ยวเยี่ยมเยียนเมืองหนังสือ ปัจจุบันมีเพียงการเตรียมพื้นทีไว้เท่านั้น

6)หมู่บ้านนักเขียน

เป็นพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ มีแม่น้ำเจ้าพระยาล้อมรอบ เป็นของกลุ่มดวงกมล 50 ไร่นอกนั้นเป็นของชาวบ้าน แต่วางโครงการให้บรรดาผู้คนในวงการหนังสือไปจับจองเพื่อสร้างบ้านพัก และสนับสนุนให้บรรดาทายาท และผู้สนใจผลงานของนักเขียนทั้งหลาย ไปสร้างบ้านที่มีห้องสมุดและส่วนแสดงผลงานของนักเขียนแต่ละราย นอกจากนี้การสนับสนุนให้สร้างบ้านพักสำหรับรับรองแขกแบบรีสอรท์ หรือ ลองสเตย์

บันทึกการสร้างเมืองหนังสือ


ปี ค.ศ. 1990 ช่วงที่กลุ่มดวงกมลเปิดตัวเมืองหนังสือในเมืองไทย ทั่วโลกมีเมืองหนังสีออยู่ 10 แห่ง

ทุกแห่งมีเป้าหมายในการดำเนินงานแบบเดียวกัน คือเตรียมพร้อมเพื่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหนังสือ ซึ่งคาดว่า ภายในปี 2010 ร้านหนังสือที่เราเห็น ๆ กัน จะหายไป จากในเมืองเกือบหมดเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่มีสื่ออื่นมาแทนที่ และการดำเนินงานของศูนย์หนังสือจะมีค่าใช้จ่ายมากเกินไป จนไม่คุ้มที่จะลงทุน เมื่อเทียบการลงทุนทำธุรกิจอื่นร้านหนังสือจะเป็นเพียงมุมหนึ่งในร้านสะดวกซื้อ และหนังสือที่ขายก็เป็นเพียงหนังสือขายดีไม่กี่เล่ม แต่ที่วางกันเป็นแผงก็คงมีแต่หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ส่วนศูนย์หนังสือใหญ่ก็จะกลายสภาพเป็น พิพิธภัณฑ์หนังสือ และห้องสมุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือเก่า จะมีหนังสือใหม่อยู่บ้าง ก็เป็นหนังสือที่ขายดีตามกระแส เมืองหนังสือจะต้องมีธุรกิจอื่น พ่วงไปด้วย เพื่อมีเงินทุนมาหล่อเลี้ยงพิพิธภัณฑ์หนังสือ สำหรับเมืองหนังสือในประเทศไทย มีรูปแบบคล้ายกับเมืองหนังสือของเมือง รูดี ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเน้นการเป็นจุดท่องเที่ยวและค้นคว้าทางด้านประวิติศาสตร์ของวงการหนังสือ เป็นจุดขาย เพื่อนักเดินทางและท่องเที่ยวที่สนใจหนังสือเป็นหลัก สำหรับเมืองหนังสือในประเทศไทย มีสาขา อยู่ที่ กรุงเทพ--แม่สอด และจังหวัดน่าน โดยหวังว่า ที่แม่สอดจะเป็นจุดพักสำหรับผู้จะเดินทางไปพม่าเพื่อต่อไปอินเดียและยุโรป ส่วนจังหวัดน่าน ก็เป็นศูนย์สำหรับผู้จะเดินทางไป หลวงพระบางประเทศเลว และเลยขึ้นไปทางเหนือเพื่อเข้าสูงประเทศจีน เราวางแผนการดำเนินงานโดยอาศัยข้อมูลการสร้างทางสายเอเชีย และมุ่งสู่ประเทศจีน ของแผนการพัฒนาประเทศ ฉบับแรก ๆ ที่มีการระบุไว้อย่างชัดแจ้ง ในการที่ไทยเราจะเป็นศูนย์การเดินทาง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราทำงานเหมือนกับการพยายามจะทำฝันให้เป็นจริง เราต้องการ ทุกอย่างเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่งานหลักและต่างต่างกับคนอื่น ๆ ก็คือจะต้องมีเป้าหมายหลักเกี่ยวโยงไปถึงหนังสือ สำนักพิมพ์ และนักเขียน

เราอยากสร้างเมืองหนังสือในเมืองไทย เพราะถือว่าเราเป็นคนบ้า (หนังสือ)คนหนึ่งของเมืองไทย อยากทำอะไรเพื่อฝากไว้กับแผ่นดินเกิดกับเข้าบ้าง เราเป็นคนจนคนหนึ่ง ที่เติมโตมาจากการเป็นเด็กวิ่งขายหนังสือพิมพ์ งานสร้างเมืองหนังสือเป็นงานใหญ่ ต้องมีหนี้ถึงจะทำได้ ถ้ามีเงินคงไม่ทำ ต้องทำจากใจ และอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ถึงจะทำได้ มือไม้ต้องอ่อน คอยประสานสิบทิศ

ก่อนจะตัดสินใจลงทุนที่นครสวรรค์ กลุ่มดวงกมลได้เลือกทำเลที่จะสร้างเมืองหนังสืออยู่หลายแห่ง เช่นที่พัทยา (ที่ดิน 10 ไร่ บริเวณเชิงเขาใกล้ ๆ วัดญาณ)ชุมพร (ที่ดิน 30 ไร่ สามารถเจาะภูเขาเข้าไปเป็นถ้ำบริเวณ อำเภอประทิว) โคราช อุดรธานี เชียงใหม่ แม่สอด น่าน อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี รวมทั้งที่กรุงเทพมหานคร ด้วย

แต่ก็มีปัญหาไปหมดทุกแห่ง ไม่ว่า ความไกลจากกรุงเทพมหานคร ราคาที่ดินที่แพงจนไม่รู้จะหาทุนจากไหนมาลงทุนทั้ง ๆ ที่มีการกำหนดไว้ก่อนว่าว่า การลงทุนนั้นจะอาศัยเงินกู้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องขนาดของที่ดิน ที่เคยมีความฝันว่าจะต้องใช้ที่ดินประมาณ พันไร่ สำหรับทำโครงการนี้

แต่เมื่อได้เห็นทำเลที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ก็พูดได้คำเดียวว่า ใช่เลย นี่แหละคือทำเลของเมืองหนังสือ เพราะอยู่ริมถนน ใกล้ชุมชน มีธนาคาร ไปรษณีย์ ระบบโทรศัพท์ ประปา ไฟฟ้าพร้อม เราเองยังข้องใจว่า ที่สวย ๆ แบบนี้หลุดมาถึงเรา ได้ยังไง เอาเป็นว่า พระเจ้าส่งที่ดินมาให้เราทำเมืองหนังสือก็แล้วกัน

เราเริ่มต้นด้วยที่ดิน 50 ไร่ทั้งสองฝั่งของถนนสายเอเซีย ด้วยเงินกู้จากคุณหญิงสายสนิท สวัสดิวัฒน์ นายทุนคนสำคัญของลุงสุข สูงสว่าง จำนวน 8 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน หลังจากนั้นเราได้คืนเงิน 8 ล้านบาท เมื่อนำโฉนดไปจำนองธนาคารได้ตามวงเงินที่เราเป็นหนี้คุณหญิง 8 ล้านบาท ตอนนั้นเสียดอกเบี้ยอัตรา 1.5 % ต่อเดือน หรือเดือนละ หนึ่งแสนสองหมื่นบาท เงินที่จ่ายดอกเบี้ยนี้ได้มาจากการค้าที่มาบุญครอง และสาขาต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ เมื่อได้ที่ดิน แปลงแรกมาแล้ว ก็มีชาวบ้านชาวนามาขอให้เราช่วยซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มขึ้นอยู่ทุกอาทิตย์ โดยระยะผ่านไปเพียง ปีเดียว ได้มีการตกลงซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น หนึ่งพันไร่ โดยทั้งหมดใช้เงินกู้จากธนาคารทั้งนั้น ช่วงนั้นกลุ่มดวงกมลกำลังเนื้อหอม เพราะมีการออกข่าวว่าจะสร้างศูนย์หนังสือใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ เรื่องเงินทุนจึงไม่มีปัญหา แต่เรื่องการจ่ายดอกเบี้ยก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน แต่พอดี ช่วงนั้นเรา มีสาขาอยู่เกือบร้อยแห่ง สั่งให้จ่ายสาขาละ 1 หมื่นบาทต่อเดือนก็ได้เงินมาเดือนละ ล้านบาท เพียงพอสำหรับจ่ายดอกเบี้ยเงินต้นที่กู้มา 60 ล้านบาท โดยใช้ซื้อที่ดิน หนึ่งพันไร่ในวงเงิน 40 ล้านบาท และเอา 20 ล้านไปสร้างอาคารตึกแถว จำนวน 40 ห้อง โดยอาศัยช่างต่างชาติจากพม่ามาสร้าง ทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ใช้เวลาก่อสร้างอาคารที่ว่า 1 ปีก็เสร็จเรียบร้อย เมื่อสร้างอาคารแล้ว ก็มีนายทุนจากสุพรรณบุรี เขามาขอซื้อที่ดิน ด้านหน้า 2 ไร่ในราคา 5 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าค่าที่ดิน 20 ไร่เพราะเราซื้อมาเพียง 4 ล้าน จึงเป็นอันว่าที่ดินแปลงที่เราสร้างอาคารหลังใหญ่ ก็ไม่มีต้นทุน นับว่าเป็นโชคดีอย่างมาก

ตามแผนหลักของเมืองหนังสือนั้น อาคารที่สร้างเป็นตึกแถว 40 คูหานั้น มีการออกแบบเพื่อปรับให้เป็นโรงแรมขนาด 3-400 ห้องได้ในอนาคต ส่วนที่จะทำคลังหนังสือคงจะขยายไปอยู่ด้านใน ซึ่งมีพื้นที่อีกมาก ทำเลที่ดีที่สุดของเมืองหนังสืออยู่ริมถนนสายเอเซียด้านขาเข้ากรุงเทพ เรียกโซนนั้นว่า ตลาดนัดหนังสือ โดยขั้นต้นได้ซื้อโครงเหล็กจากงานแสดงสินค้าที่โคราช มาทำเป็นอาคารชั่วคราว 2 หลัง มีเนื้อที่ใช้สอยประมาณ 5 พันตะรางเมตร ช่วงแรกเราชวนชาวบ้านมาขายสินค้าพื้นบ้าน เพื่อเป็นการสร้างทำเลย และสร้างรายได้ แต่ปรากฏว่า พวกชาวบ้านสายป่านไม่ยาวพอ เพราะมาวางขายของเพียงอาทิตย์เดียว แล้วขายไม่ได้ ก็พากันบอกลากันหมด มีเพียงร้านอาหารซุ้มบอลเจ้าเดียว ที่กัดฟันสู้ เพราะลงทุนไปมากแล้ว โดยเราก็ได้สร้างอาคารไว้ขายหนังสือเคียงคู่กับเขาไปด้วย เอาเป็นว่าอยู่เป็นเพื่อนกันก็แล้วกัน ซึ่งต่อมาไม่นาน ทางซุ้มบอลเขาก็มาขอซื้อที่ดินจำนวนหนึ่งไร่กว่า ๆ ที่เราให้เขาเช่า เขาเต็มใจซื้อในราคา สี่ล้านบาท ทีแรกก็ไม่อยากขาย แต่เมื่อเห็นว่า เราซื้อมา30 ไร่ 4 ล้าน เขามาขอซื้อ 1 ไร่ 4 ล้าน และเป็นการช่วยเหลือเขาด้วย เพราะเขาลงทุนสร้างอาคารอย่างดี หากผู้บริหารรุ่นหลังเกิดเห็นทางรวย ไม่ยอมให้เขาเช่าเมื่อหมดสัญญา ก็จะเป็นปัญหาเปล่า ๆ ซึ่งก็ต้องขอบคุณซุ้มบอลเขาเป็นอย่างมาก ที่ทำให้โครงการเมืองหนังสือ ได้ตัดภาระค่าที่ดิน ที่ลงทุนไว้ ได้หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว แบบฟ้าประทาน

สรุปได้ว่า ที่ดินที่ใช้สร้างคลังหนังสือและตลาดนัดหนังสือนั้น ได้ขายที่ดินบางส่วน ประมาณ 5 % ของทั้งหมด ก็พอสำหรับต้นทุน แต่ในความโชคดีก็มีความโชคร้ายปนอย่ เพราะมีการเอาที่ดินทั้งหมดไปค้ำประกันการลงทุนที่ซีคอนสแควร์มากถึง 60 ล้านบาท ก็เลยมีภาระผูกพัน ทำให้เกือบเอาตัวไม่รอด ถ้าไม่ได้รับความเมตตาจากธนาคารเจ้าหนี้

เพราะตอนแรกคิดว่าจะต้องขายที่ดินทั้งหมดถึงจะพอใช้หนี้ แต่ก็กัดฟันทนและเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ไปเรื่อย ๆ นานถึง 10 ก็ยังไม่จบ ที่เป็นปัญหาเพราะ หลักประกันที่นครสวรรค์ของเมืองหนังสือนี้ มีราคาประเมินของทางราชการ สูงกว่าหนี้ อีกเท่าตัว ทางธนาคารก็เลยไม่ยอมให้เราประนอมหนี้ง่าย เรื่องเลยยืดเยื้อ มาถึง พ.ศ. 2549

กลุ่มดวงกมลก็มีปัญหาหากับธนาคารเมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจเมื่อพ.ศ. 2540 เพราะนโยบายที่เราใช้ในการขยายสาขานั้น อิงธนาคารมากเกินไป เราเอาเงินธนาคารมาซื้ออาคารและที่ดินสำหรับทุกสาขา เพราะเราเคยได้รับความเจ็บปวดจากบรรดาเจ้าของพื้นที่ที่เราไปเปิดสาขา เพราะเมื่อเจริญแล้ว ก็มาขึ้นค่าเช่า หรือไล่เราออกไปง่าย ๆ อย่างเช่นมาบุญครอง ครั้งแรก ให้เราเช่า 15 ปี เสียเงินกินเปล่า 17 ล้าน พอหมดสัญญา เขาเรียก 71 ล้านเฉยเลย เราสู้ไม่ได้ก็เลยถอย ในขณะเดียวกันเขาก็ไปให้คนอื่นเช่า เรียกเงินได้ 80 ล้าน นอกจากนี้ที่เดอะมอลล์เช่นเดียวกัน เราอยู่กับเขามามากกว่า ประมาณ 15 ปีในทุกสาขา วันดีคืนดี ก็บอกให้เราออก แล้วเอาเพื่อนในวงการหนังสือมาลงแทน งานนี้เราทวงถามค่าเฟอร์นิเจอร์ที่เราจ่ายเงินลงทุน แต่เวลาให้เราออกเขาไม่คืนเราสักบาท มันเป็นความเจ็บปวดจริง ๆ แต่เราก็พยายามทวงเขา เพราะมีอยู่สาขาหนึ่ง จ่ายเงินค่าเฟอร์นิเจอร์ นับล้าน จ่ายเงินเสร็จก็ให้เราออก เราก็ทวงถามเขาทุกครั้งที่มีโอกาส 10 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้

การให้สาขาต่าง ๆ ลงทุนในอาคารและที่ดินนั้น มีปัญหาเมื่อเกิดวิกฤตเมื่อปี 2539 เพราะอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปสูงถึง 30 %รวมทั้งเงินต้นที่เมื่อแรกกู้เป็นเงินดอลล่า แต่ต่อมาปรับเป็นเงินบาท จาก 25 สูงเป็น 50 ทำให้หนี้สินเพิ่มเท่าตัว ทำเอาปั่นป่วนไปหมด และมีปัญหายาวนานมาถึงปัจจุบัน

แต่ปัญหาของกลุ่มดวงกมลนั้นแท้จริงเกิดจากปัญหาครอบครัว ทำเอาวุ่นวายไปหมด เมื่อลุงสุขซึ่งเป็นประธานเกิดไปมีคุณนายคนใหม่ ที่คุณสุขไปเขียนมอบทุกอย่างที่ท่านมีให้กับเธอ โดยเธอเข้าใจว่าทุกอย่างในดวงกมลเป็นของลุงสุข ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายถึงโรงถึงศาลกัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จะจบลงที่ไหน อย่างไรก็ตามโครงการเมืองหนังสือก็จะดำเนินการต่อไป

ก้าวต่อไปของเมืองหนังสือก็คือต้องพยายามสร้างศูนย์การค้าเพื่อขายของฝาก และหนังสือ บริเวณที่ดินริมถนนสายเอเชียช่วงขาเข้ากรุงเทพให้ได้ เพื่อนำเงินมาพัฒนาเมืองหนังสือให้เป็น พิพิธภัณฑ์หนังสือ จุดพักอาศัยของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ โดยหวังอยู่มาก ๆ ว่า สักวันหนึ่งเมืองหนังสือจะเป็น HOMESTAY ที่ดังที่สุดของประเทศไทย เพราะตั้งใจว่าจะให้นักท่องเที่ยวมาพัก เพียงเสียค่าห้องพัก เพียง 500 บาท สำหรับการพักแต่ละครั้ง ไม่เกิน 7 วัน แล้วค่อยหารายได้จากการขายหนังสือ นักท่องเที่ยวสามารถ เดินทางท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างให้ดู และที่สำคัญเรามีห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สำหรับนักเดินทางทุกคน

ส่วนรายได้หลักก็จะได้มาจากการพัฒนาที่ดินอีกหนึ่งพันไร่ให้เป็นรีสอรท์ หรือจัดสรรที่ดิน ให้กับคนที่รักหนังสือมาอยู่อาศัยทั้งถาวรและชั่วคราว ซึ่งไม่ได้เร่งรัดอะไร ค่อย ๆ ทำไปก็แล้วกัน การขายที่ดินออกไป ยิ่งช้าก็ยิ่งได้ราคา

เมืองหนังสือ อยู่ติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกส่วนด้านทิศตะออกเป็นภูเขา เป็นภูเขาลูกแรกที่เห็นเวลาเดินทางจากกรุงเทพขึ้นไปทางเหนือ

ก่อนจะถึงตัวเมืองนครสวรรค์ 30 กม.ไปตัวเมีองอุทัยธานี 15 กม.และชัยนาทกับตาคลี 30 ก.ม.เท่า ๆ กัน

ห่างจากกรุงเทพมหานคร 210 กิโลเมตร

ในระยะ 3 กิโลเมตร มีรถไฟ ตลาด โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ที่ทำการเทศบาล ที่ว่าการอำเภอ ไปรษณีย์ ธนาคาร 4 แห่ง มีรถยนต์วิ่งผ่านตลอดเวลา ปั้มน้ำมัน 5 แห่ง โรงงาน 30โรงงาน

เขตเมืองหนังสือนี้แบ่งเป็น

1)คลังหนังสือ

2)ตลาดนัดหนังสือ

3)อุทยานนักเขียนไทย

4)หมู่บ้านเมืองหนังสือ

5)ท่าเรือเมืองหนังสือ

6)หมู่บ้านนักเขียน

7)สำนักสงฆ์

โครงการทั้ง 7 ของเมืองหนังสือ ของกลุ่มดวงกมลเอง 5 รายการ อีกสองรายการคือ

1)อุทยานนักเขียนไทย คงเป็นงานร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยเราเป็นผู้สนับสนุน

2)หมู่บ้านนักเขียน ก็คงปล่อยให้นักเขียนหรือผู้สนใจในความคิดของเรา ไปจัดหาจัดทำกันเอง เราคอยให้ข้อมูลและสนับสนุนเท่านั้น

สำหรับหมู่บ้านนักเขียนนั้นเป็นเขตพิเศษ เป็นแหลมที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา สภาพแวดล้อมและบรรยากาศดีมาก มีถนนล้อมรอบประมาณ 5 กิโลเมตร

ผมวาดฟันให้เป็นหมู่บ้านนักเขียน แต่งานนี้มันใหญ่มาก ที่สำคัญไม่อยากให้คนในวงการมองว่า เรามาหาผลประโยชน์ สู้คอยเป็นผู้ให้ดีกว่า โดยมีเตรียมให้ที่ดินกับสมาคม และองค์กรการกุศล และองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ รายละ ประมาณ 1 ไร่ รวมแล้ว 20 ไร่ ส่วนนักเขียนหรือคนอื่น ๆ ที่อยากไปอยู่แถวนั้นไปซื้อหาจับจองเอาเอง แต่ถ้าไม่อยากลงทุนมากมาร่วมงานกับเราก็ได้ เรามีที่ดิน มากกว่า 10 แปลง รวมแล้ว 50 ไร่ ซึ่งน่าจะพอเพียงสำหรับนักเขียนนับ 100 คน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นงานที่เกิดขึ้นจริง ๆ และซุ่มทำมาตั้งแต่ พ.ศ 2539 หลังจากเปิดตัวเมื่อปี 2537 แต่จะเสร็จเมื่อใดก็ไม่รู้

ส่ง อีเมล์ ถึงเมืองหนังสือ dkbookbb2000@yahoo.com

กลับไปหน้าแรก